1. การวิจัย คืออะไร ตามแนวคิดของ จุมพล สวัสดิยากร (2520)
การวิจัย (research) หมายถึง การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ หรือการทดลองอย่างมีระบบ โดยอาศัยอุปกรณ์หรือวิธีการวิจัย เพื่อค้นหาให้พบข้อเท็จจริงหรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี หรือแนวทางในการปฏิบัติ มีลักษณะงานงานที่เป็นเพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิจัย เช่น การสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การทำรายงานหรือเผยแพร่ผลงานวิจัยหรือกิจกรรมสนับสนุนการวิจัย เช่น การฝึกอบรมนักวิจัย การให้เงินอุดหนุนการวิจัย ฯลฯ เหล่านี้ไม่นับเป็นการวิจัยตามนิยามข้างต้น และสามารถแบ่งการวิจัยตามกลุ่มสาขาวิชาการออกเป็น 2 ด้าน คือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง การสำรวจ วิเคราะห์ ทดลองอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอนด้วยอุปกรณ์หรือวิธีพิเศษ เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความรู้ หรือประสบการณ์ เพื่อเสนอความรู้ใหม่ นวัตกรรมและความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ และการวิจัยทางสังคมศาสตร์ หมายถึง การศึกษาค้นคว้าหาความจริงด้วยระบบและวิธีการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ พฤติกรรม ปรากฏการณ์หรือปฏิกิริยา ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์และสังคม เพื่อให้ทราบถึงความรู้และความจริงที่จะนำมาแก้ไขปัญหาของสังคมหรือก่อให้เกิดความรู้ใหม่ นวัตกรรมและความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ
2. การวิจัย คืออะไร ตามแนวคิดของ ดร. วรัทยา ชินกรรม (2560)
การวิจัย มาจากคําว่า Research มีรากศัพท์มาจาก Re+Search ซึ่งคำว่า Re แปลว่า ซ้ำ ส่วนคำว่า Search แปลว่า ค้นหา ดังนั้น Research จึงหมายถึง การค้นหาความรู้ความจริง ค้นแล้วค้นอีกซึ่งจะทำให้ได้รับรู้ความรู้ความจริงที่น่าเชื่อถือ ถูกต้องเพราะมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการสรุปเป็นความรู้ความจริง โดยกระบวนการหาความรู้ความจริงใหม่ที่มีระบบแบบอาศัยหลักเหตุผลที่ละเอียดรอบคอบชัดเจนและเชื่อถือได้ ซึ่งความรู้หรือความจริงนั้นจะนําไปเป็นหลักการทฤษฎี หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้ผู้ทำวิจัยได้รับรู้และนําไปใช้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความสงบสุขหรือป้องกันและหลีกเลี่ยงภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ เนื่องจากการวิจัยเป็นการค้นคว้าที่ต้องอาศัยความรู้ ความชํานาญและมีระบบ เป็นงานที่มีเหตุผลและมีเป้าหมาย จะต้องมีเครื่องมือหรือเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้ เพราะการวิจัยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลใหม่และ ความรู้ใหม่เป็นการศึกษาค้นคว้าที่มุ่งหาข้อเท็จจริงและจะต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ภายใต้การบันทึกและเขียนการรายงานการวิจัยอย่างระมัดระวัง ยกเว้นลักษณะการที่ผู้ทำวิจัยหรือนักศึกษาไปค้นคว้าเอกสารตําราแล้วนํามาเรียบเรียง ตัดต่อเนื้อหา การค้นพบ (Discovery) โดยทั่วไปหรือโดยบังเอิญ การรวบรวมข้อมูลแล้วนํามาจัดทำตาราง รวมถึงการทดลองปฏิบัติการตามคู่มือที่แนะนําไว้ ไม่ถือเป็นการวิจัยอย่างเป็นระบบ
3. การวิจัย คืออะไร ตามแนวคิดของ ถวิล อรัญเวศ (2558)
การวิจัย คือการที่ต้องไปรวบรวมข้อมูลด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างเป็นระบบ เพื่อศึกษาค้นคว้าหาคำตอบจนกว่าจะพบคำตอบที่ต้องการ โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในศาสตร์แต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้วนำผลการวิจัยมาจัดทำรายงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อสรุปที่เป็นนัยทั่วไป หรือได้มาซึ่งหลักเกณฑ์หรือทฤษฎีอันสามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ ซึ่งมีคุณลักษณะของการวิจัยที่สำคัญในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การวิจัยจะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้าย (Ultimate goal) กล่าวคือการค้นพบความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างตัวแปร (Variable) การวิจัยควรเน้นการพัฒนาข้อสรุปที่เป็นนัยทั่วไป หลักการ (Principle) หรือทฤษฎี (Theory) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การวิจัยต้องอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ที่สามารถสังเกตได้ (Observable experience) หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical evidence) ซึ่งในหลายกรณีจะเห็นว่ามีคำถามที่น่าสนใจหลายประการที่ไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการทำวิจัยได้ เพราะไม่สามารถสังเกตได้ การวิจัยต้องมีการสังเกตที่ถูกต้องและพรรณาความได้นักวิจัยอาจเลือกวิธีการวัดและเครื่องมือทางด้านปริมาณ หากมีความเหมาะสมในการหาคำตอบได้ นักวิจัยก็จะต้องใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) หรือวิธีการที่ไม่ใช่เชิงปริมาณ การวิจัยเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือข้อมูลที่ใช้เป็นครั้งแรก หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วสำหรับวัตถุประสงค์ใหม่ ในทางตรงข้ามการจัดการใหม่หรือการนำเอาผลงานของผู้ทำวิจัยไว้แล้วมาศึกษาใหม่ ไม่ถือว่าเป็นการทำวิจัย
เพราะการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา การวิจัยมีวิธีการหรือแบบการวิจัย (Research procedure or research design) ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ที่เข้มแข็งและถือได้ว่าเป็นการวิจัย ที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญ ผู้วิจัยจึงจำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจปัญหาที่จะทำพร้อมกับต้องรู้ด้วยว่าคนอื่นได้ทำวิจัยอะไรไว้บ้างและอย่างไรผู้ทำวิจัยจะต้องรู้ถ้อยคำที่ใช้ แนวคิดและทักษะด้านเทคนิค เพื่อจะทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้อย่างถูกต้อง มีวัตถุประสงค์และเหตุผลถูกต้องตามหลักตรรกวิทยา ดังนั้น ผู้ที่จะทำการวิจัยจึงควรใช้เครื่องทดสอบทุกอันที่เป็นไปได้เพื่อทำให้วิธีที่ใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา หรือแม้แต่ข้อสรุปของงานวิจัยที่ค้นพบมีเหตุผลและนักวิจัยต้องพยายามขจัดอคติส่วนตัวหรือไม่ใช้อารมณ์ในการวิเคราะห์หากแต่ใช้เหตุผลและความรู้ทางวิชาการในการทำวิจัยที่จะทำจะต้องเกี่ยวข้องกับคำถามที่ต้องการคำตอบของปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทน นักวิจัยจึงควรคาดการณ์ไว้ก่อนถึงความผิดหวังหรือความหมดกำลังใจ หากถึงตอนที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งขึ้นได้อย่างยากลำบาก พร้อมมีการบันทึกและรายงานอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องให้คำนิยามศัพท์ และจะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยวิธีการศึกษาจะต้องกล่าวโดยละเอียดนอกจากนี้การอ้างอิงต้องกระทำอย่างระมัดระวังผลการวิจัยจะต้องมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนและจะต้องเสนอข้อสรุปด้วยความระมัดระวังและบางครั้งต้องการกำลังใจหรือการสนับสนุน ไม่ว่างานวิจัยนั้นจะมีผลเกื้อกูลหรือขัดทางต่อกลุ่มคนใดก็ตาม
4. การวิจัย คืออะไร ตามแนวคิดของ ดร.มนัสยา แรกคำนวน (2565)
การพยายามค้นหาคำตอบหรือกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือการหาความรู้การทำความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ต้องการศึกษา มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์และการตีความหมายผลที่ได้จากการวิเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบอันถูกต้อง เป็นกระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือต้องการย่างเป็นระบบ และมีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ (scientific methods) โดยมีจุดมุ่งหมายของการวิจัยที่แน่นอน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิจัยหรือความรู้ใหม่ที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ การวิจัยเป็นการฝึกฝนตนเองให้มีความรู้อย่างเพียงพอและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษามีระดับทักษะความรู้ในการวิจัยระดับสูง ผู้วิจัยต้องมีความคิดริเริ่มกระตือรือร้นและสร้างสรรค์ในการที่จะทำงานวิจัย ผู้วิจัยต้องรู้จักใช้เครื่องมือต่างๆในการวิจัยได้ถูกต้องเหมาะสมมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับผลการวิจัยอย่างไม่มีอคติและเป็นผลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยผู้วิจัยจะต้องมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอและผลการวิจัยทำให้ประโยชน์สุขแก่สังคมและประเทศในทางใดทางหนึ่ง

Pingback: การทบทวนวรรณกรรม เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง - THESIS DD - by Dr.Kwang
Pingback: ตัวช่วยในการทำวิทยานินพธ์ ป.โท - THESIS DD - by Dr.Kwang
Pingback: ทักษะสำคัญในการทำงานวิจัย - THESIS DD - by Dr.Kwang
Pingback: รับทำวิจัย ชอบแบบไหนเลือกเองได้ น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ หรือเก่งจริง - THESIS DD - by Dr.Kwang